วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนะนำเลือกซื้อเลนส์ Nikon

นอร์มอล

AF-S 18-55 f/3.5-5.6 VR...(3k) มาตรฐานชายไทย ทำได้ทุกอย่าง
AF-S 18-70 f/3.5-4.5...(6k-8k) ดีขึ้นมาอีกหน่อย รูรับแสงกว้างขึ้น โฟกัสเร็วขึ้น
AF-S 18-135 f/3.5-5.6...(6k-8k) ซูมไกลดี แต่รูรับแสงแคบลงเร็วมาก ถ้าจำไม่ผิดจะเริ่ม f/5.6 ตั้งแต่ 85
AF-S 16-85 f/4-5.6 VR...(18k-20k) เหมือน 18-55VR ที่พัฒนาทุกอย่างแล้ว ไวด์ขึ้น เทเลขึ้น คมขึ้น VR ดีขึ้น รวมแล้วทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ดีมาก แต่แพงหน่อย
AF-S 18-200 f/3.5-5.6 VR...(18k-20k) ดีกว่า ไวด์ไม่มาก แต่ซูมไกลมาก เหมาะสำหรับคนไม่ชอบเปลี่ยนเลนส์ คมดี VR ดี
AF-S 18-105 f/3.5-5.6 VR...(8k-10k) ทำมาแทน 18-135 ที่รูรับแสงแคบ เค้าเลยลดให้ซูมได้น้อยลงนิดนึง แต่ใส่ VR มาแทนจะได้ถือถ่ายได้ง่ายขึ้น
AF-S 17-55 f/2.8...(35k-45k) คม สีสวย f กว้าง บอดี้ทนทึก สรุป ดีทุกอย่าง แต่ซูมได้ไม่มากและราคาประมาณครึ่งแสน
AF-S 24-70 f/2.8 Nano...(55k-65k) เทพจุติ เลนส์เปอร์เฟค หาที่ติไม่ได้ เหมาะสำหรับกล้อง FullFrame หนักประมาณ 1กิโล

(VR ของ Nikon มี 2 รุ่นคือ I กับ II...รุ่น II จะทำงานได้เร็วกว่าและกันสั่นได้มากกว่า)

เทเล

AF-S 55-200 f/4-5.6 VR...(6k-8k) รุ่นเล็ก เบาๆ มีกันสั่น พกพาง่าย
AF-S 70-300 f/4.5-5.6 VR...(16k-18k) ใหญ่ขึ้นมา คมขึ้น สีดีขึ้น โฟกัสไวขึ้น VR ดีขึ้น
AF 80-200 f/2.8...(25k-30k) คม สีสวย f กว้าง หนักมาก (กิโลกว่า) เลนส์ดีอีกหนึ่งตัว
AF-S 70-200 f/2.8 VR...(55k-60k) เทพช่วงเทเล ดีทุกอย่าง มาพร้อมน้ำหนักกิโลครึ่ง ราคา 65k อีกแล้ว

ไวด์

AF-S 12-24 f/4...(25k-30k) คมดี สีสวย แพงหน่อย
AF-S 14-24 f/2.8 Nano...(55k-65k) เทพจุติ เลนส์เปอร์เฟค หาที่ติไม่ได้ ราคา 65k เหมาะสำหรับกล้อง FullFrame ถ้าเอามาใส่กับตัวคูณจะไม่ไวด์เท่าไร
AF-S 10-24 f/3.5-4.5...(ไม่ทราบราคา) ไวด์ขึ้นมาหน่อย แต่รูรับแสงแคบลงนิดนึง

มาโคร

AF-S 60 f/2.8 Macro Nano...(15k-18k) มาโครช่วงสั้น คุณภาพดีมาก เพราะมี Nano เหมาะสำหรับถ่ายดอกไม้หรือของในบ้านเพราะไม่ต้องถอยไกล
AF-S 105 f/2.8 VR Macro Nano...(25k-28k) มาโครช่วงยาวมานิดนึง คุณภาพดีมาก มีกันสั่นซะด้วย แต่ไม่ทำงานที่ระยะโฟกัสใกล้สุด เหมาะสำหรับถ่ายแมลง เพราะไม่ต้องเข้าใกล้มากนัก

แนะนำเลือกซื้อเลนส์ Cannon

ผมขอแนะนำ Cannon ก่อนนะครับ เนื่องจากใช้อยู่

ถ่ายวิว...EF-S 10-22 หรือ Sigma 10-20
ถ่ายทั่วไป...EF-S 18-55 IS หรือ EF-S 17-85 IS หรือ Tamron 17-50 f/2.8
ถ่ายไกล...งบมาก EF 70-200 f/4L งบน้อย EF-S 55-250 IS
ถ่ายคน...งบมาก EF 70-200 f/4L งบน้อย EF 50 f/1.8 หรือชอบมากๆก็ EF 85 f/1.8
ถ่าย macro...เด่นอยู่ตัวเดียว EF 100 f/2.8 macro

(กรณีงบมากหน่อยก็เลือกกันเองตามอัธยาศัยนะครับ)

แต่

ที่แนะนำจริงๆคือ ให้ใช้เลนส์ kit ถ่ายไปซักเดือนสองเดือนก่อนครับ แล้วค่อยซื้อเลนส์เพิ่ม เพราะจะทำให้เรารู้เองว่าเราชอบถ่ายอะไร จะได้เลือกง่ายขึ้น และไม่เปลืองตังจนเกินเหตุครับ (ช่วงนี้ Kit IS เค้าดีจริงครับ)

เช่นนอร์มอล,พอร์ตเทรต ใช้แค่ 50 f1.8 ก็ได้ครับ ลำบากนิดหน่อยที่ซูมไม่ได้ แต่ภาพออกมาสวย คม ถ่ายคนหลังเบลอครับ

ไวด์ก็ใช้ kit ถ่ายเอาก่อนก็ได้ กว้างกว่ากล้อง compact เยอะอยู่ครับ

เทเล ควรจะมี แต่ก็ไม่ต้องรีบก็ได้ครับ คนเราไม่ได้ต้องการซูมอะไรขนาดนั้นตลอดเวลาหรอกครับ (70-300 ถ้าคิดแบบกล้อง compact ก็จะประมาณ 12x อ่ะครับ เยอะอยู่นะ)

และ macro นี่ ถ้าไม่ใจรัก ก็ควรเอาไว้หลังสุดเลยครับ เพราะแพง

สุดท้าย...กล้องเป็นแค่อุปกรณ์ครับ ถ้าถ่ายไม่เป็น ต่อให้ใช้เลนส์แพงแค่ไหนภาพก็ไม่สวยหรอกครับ
แต่ถ้าถ่ายเป็น แค่ kit กับ 50 f1.8 ก็ท่องโลกได้ครับ

การเลือกใช้เลนส์ ตอนที่4

ถ่าย macro ใช้เลนส์ macro ครับ

(เลนส์มาโคร ส่วนใหญ่ คือเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสมาก แต่กลับมีระยะโฟกัสใกล้สุดที่ใกล้มากครับ คืออยู่ที่ประมาณ 20-30cm เท่านั้นเอง ภาพที่ถ่ายได้จึงขยายใหญ่มากครับ...เสริมมาอีกนิด...ความหมายจริงๆของเลนส์ มาโครคือเลนส์ที่มีกำลังขยายสูงมากครับ พูดง่ายๆคือเลนส์ที่มีคุณสมบัติคล้ายๆแว่นขยายครับ...ที่บอกอย่างนี้เพราะมี เลนส์มาโครบางตัวมีความยาวโฟกัสแค่ 35mm ก็มีครับ (ของ Olympus)

คุณสมบัติพิเศษของเลนส์มาโครคือ คมมากๆๆๆๆๆ และเก็บรายละเอียดได้เยอะมากครับ

เลนส์มาโครสามารถเอาไปถ่ายคนก็ได้ แต่บางคนอาจไม่ชอบ เพราะว่ามันคมมาก และสามารถเก็บรายละเอียดของสิวหรือริ้วรอยได้อย่างคมชัดมากครับ
แต่บางคนก็ชอบนะครับ เพราะยังไงซะถ่ายมาคมๆก็เอามาแต่ง photoshop ทีหลังได้ง่ายกว่าถ่ายมาไม่คมนี่ครับ)

- EF 100 f/2.8 macro USM...หมื่นปลายๆ เป็นเลนส์ macro แท้ๆครับ ให้อัตราขยาย 1 เท่า (1:1) ขณะที่เลนส์เท่าไปให้ได้แค่ประมาณ 0.28 เท่า (ประมาณ 1:3 ถึง 1:4) ครับ คมมาก สีสด คอนทราสต์จัด
- EF-S 60 f/2.8 macro USM...หมื่นกลางๆ ทำมาสำหรับกล้องตัวคูณครับ ระยะถอยจะไม่ไกลเท่า 100 macro แต่คมชัดเท่าๆกันครับ และกำลังขยาย 1 เท่าเหมือนกันครับ

(เลนส์มาโครที่มีความยาวโฟกัสสูงๆจะมีข้อได้เปรียบคือระยะถอยจะไกลกว่า ทำให้ถ่ายแมลงได้ดี เพราะแมลงจะไม่บินหนีไปไหนครับ แต่ข้อเสียคือจะต้องใช้สปีดสูงขึ้น ตามกฎ ชัตเตอร์สปีด=1/ความยาวโฟกัส

ส่วนเลนส์มาโครที่มีความยาวโฟกัสน้อยๆจะมีข้อได้เปรียบคือระยะถอยไม่ไกลนัก เอาไว้ถ่ายเล่นรอบๆบ้านได้ง่ายดี ถ่ายดอกไม้ ถ่ายของเล่น สบายๆ สปีดไม่ต้องสูงนัก เพราะความยาวโฟกัสน้อยกว่า และมี perspective คล้ายๆกับที่ตาเห็น สัดส่วนจะสมจริง ข้อเสียคือ ถ้าจะเอาไปถ่ายแมลงจะยากนิดนึง เพราะต้องเข้าใกล้มากไปหน่อย แมลงอาจบินหนีได้ครับ)

- Tamron 90 f/2.8 DI macro...หมื่นนิดๆ สำหรับคนรักมาโครแต่งบไม่ถึง Canon ครับ คมใช้ได้ แต่โฟกัสแล้วกระบอกยื่นครับ (ยื่นมากซะด้วย) แต่ก็นะครับ มันถูกกว่ากันเกือบหมื่น อัตราขยาย 1 เท่าเช่นกันครับ
- Sigma 70-300 f/4-5.6 DG macro...มาโครเทียม ขยาย 0.5 เท่า (1:2) ครับ

การเลือกใช้เลนส์ ตอนที่3

ถ่ายไกลๆ ใช้เลนส์เทเลซูมครับ

- EF 75-300 f/4-5.6 USM...6-7 พัน โฟกัสเร็วดี
- Sigma 70-300 f/4-5.6 DG macro...6-7 พันเช่นกัน เห็นเขาว่าดีกัน แต่ผมไม่เคยใช้ครับ macro ไ้ด้หน่อยๆ โฟกัสช้ากว่าตัวแรกครับ
- EF 70-300 f/4-5.6 IS USM...สองหมื่นนิดๆ คุณภาพสูสีกับ 70-200 f/4L ครับ คม สีสวย แพ้ที่เรื่องโครงสร้างและระบบโฟกัสนิดหน่อย แต่ก็ดีกว่าตัว 75-300 กับ Sigma 70-300 อยู่มากทีเดียว แถมมีกันสั่นอีกด้วยครับ
- EF-S 55-250 f/4-5.6 IS...เก้าพัน เลนส์ดีคุ้มราคา คมใช้ได้ ที่สำคัญ มีกันสั่นครับ สำหรับคนงบน้อยแต่อยากได้กันสั่น
- EF 70-200 f/4L USM...2 หมื่นกว่าๆ เลนส์โปรยอดนิยมครับ ถูกสุดแล้วในบรรดาเลนส์ L ภาพคม สีสวย โฟกัสเร็ว และที่เจ๋งคือ ซูมไม่ยื่นครับ
- EF 70-200 f/4L IS USM...3 หมื่นกลางๆ คมและสีสดกว่า 70-200 f4L ตัวข้างบนครับ กันสั่นอีกต่างหาก อย่างเทพ
- EF 70-200 f/2.8L USM...3 หมื่นกลางๆ รูรับแสงเบ้อเร่อครับ อย่างเทพ
- EF 70-200 f/2.8L IS USM...6 หมื่น เทพกว่า เพราะกันสั่น

ถ่ายคน ใช้เลนส์ที่ f น้อยๆ หรือเลนส์เทเลครับ (ประมาณ 85-135)
เพราะจะทำให้หลังเบลอสวย ช่วยขับตัวแบบให้เด่นขึ้นมาครับ

- EF 50 f/1.8...แม้ความยาวโฟกัสจะไม่ค่อยใช่...แต่ f น้อย หลังเบลอกระจายครับ ที่สำคัญคือถูกจัง
- EF 50 f/1.4 USM...f กว้างกว่า คมกว่า บอดี้ดีกว่า โฟกัสเร็วกว่าตัวข้างบนครับ หมื่นนิดๆ
- Sigma 70-300 f/4-5.6 DG macro...เลนส์เทเลยิ่งซูมมากยิ่งเบลอครับ
- EF-S 55-250 f/4-5.6 IS...เลนส์เทเลใช้ได้ทั้งนั้นครับ หลังเบลอง่าย
- EF 70-300 f/4-5.6 IS USM...นี่ก็น่าใช้ เพราะคมดี สีสวยครับ
- EF 70-200 f/4L USM...เลนส์เทเล แค่ f4 ก็ถือว่าน้อยแล้วครับ อีกทั้งตัวนี้เป็นเลนส์ L ภาพที่ได้จะมีสีสวยเป็นพิเศษครับ โดยเฉพาะ skin tone จะดูนุ่มๆ เนียนตาครับ
- EF 70-200 f/4L IS USM...อย่างเทพ
- EF 70-200 f/2.8L USM...อย่างเทพ
- EF 70-200 f/2.8L IS USM...เทพมาก
- EF 85 f/1.8 USM...หมื่นนิดๆ เลนส์ที่มีความยาวโฟกัส 85mm จะมีชื่อเล่นคือ Portrait Lens ครับ นิยมเอาไว้ถ่ายคนโดยเฉพาะ เพราะ f น้อย และยังเทเลด้วย ถ่ายแล้วสีสวย ผิวเนียน ข้อเสียนิดนึงคือมันเป็นเลนส์เทเลแบบความยาวโฟกัสคงที่ แถมคูณ 1.6 เข้าไปก็กลายเป็น 136 เวลาถ่ายซักทีต้องเดินหามุมกันเมื่อยล่ะครับ ***แต่ถ้าชินแล้วจะชอบครับ คม สวย เบา
- EF 85 f/1.2L USM...สังเกต f number ไหมครับ...เป็นเลนส์ที่มี f กว้างที่สุดของ Canon ครับ (เท่าที่ยังผลิตขาย) ราคาก็เต็มเหนี่ยวที่ 6 หมื่นกว่าๆครับ เทพสุด

EF-85 F1.8 เทพครับระยะ 85 อิอิ

การเลือกใช้เลนส์ ตอนที่2



ถ่ายทั่วไป ใช้เลนส์นอร์มอลครับ

- EF-S 18-55 f/3.5-5.6...ก็เป็นนอร์มอลเหมือนกัน
- EF-S 18-55 f/3.5-5.6 IS...เหมือนตัวบน แต่ติดกันสั่นมาให้ ทำให้ถือเดินเล่นได้สบายขึ้นในที่แสงน้อยๆครับ
- EF 17-40 f/4L USM...ก็ใช้ถ่ายทั่วไปได้ สำหรับคนไม่ต้องการซูมมากๆ แต่อยากได้คมๆ สีสวยๆ
- Tamron 17-50 f/2.8 DI II...หมื่นนิดๆ รูรับแสงคงที่ ตัวนี้คมมากครับ ติดว่าโฟกัสช้านิดนึง และสีค่อนข้างอมเหลือง (อมส้ม)
- Tamron 28-75 f/2.8 DI...หมื่นนิดๆ เหมือนกันกับข้างบน ผลิตมาเพื่อใช้กับกล้องฟิล์มครับ (แต่ดิจิตอลก็ใช้ได้ โปรดสังเกตว่า 17-50 คูณ 1.6 จะได้ประมาณ 28-80 คือช่วงเดียวกัน)
- EF 50 f/1.8...ไม่เกิน 4 พัน เป็นเลนส์ที่ทุกคนที่เล่น SLR เคยใช้ครับ และส่วนใหญ่จะมีเป็นของตัวเอง ด้วยราคาที่ถูกแต่คุณภาพเหลือล้น เพราะเป็นเลนส์ฟิกซ์ ทำให้ภาพคม (มาก) และให้ f สูงสุดถึง 1.8 ทำให้สามารถนำไปถ่ายในที่แสงน้อยๆได้ดี
- EF-S 17-85 f/4-5.6 IS USM...หมื่นต้นๆ ซูมได้เยอะ โฟกัสเร็ว และมีระบบ IS คือ กันสั่น ช่วยให้ถือกล้องถ่ายด้วยมือเปล่าได้ที่ความเร็วชัตเตอร์น้อยกว่าปกติครับ เอาไว้ถ่ายตอนแสงน้อยๆ
- Sigma 18-200 f/3.5-6.3 DC OS...หมื่นปลายๆ เลนส์ครอบจักรวาลจาก Sigma ที่มาพร้อมกันสั่น (OS ก็คือ IS นั่นล่ะครับ แต่เป็นของ Sigma) สำหรับคนขี้เกียจเปลี่ยนเลนส์ครับ
- EF-S 18-200 f/3.5-5.6 IS...เลนส์ครอบจักรวาลของ Canon ครับ คุณภาพดีใช้ได้ ที่แน่ๆก็ดีกว่า Sigma แน่นอนครับ อย่างน้อยๆก็ f กว้างกว่าหน่อยนึงละ ราคาประมาณ 2หมื่น

(เพิ่มนิดนึงครับ...คนที่เพิ่งเปลี่ยนจากเล่น compact มาเป็น SLR มักจะอยากได้เลนส์ประเภทนี้ คือ ซูมทั้งใกล้และไกลในตัวเดียวกัน แต่ผมไม่แนะนำครับ เพราะ
- คุณภาพไม่ดี...ไวด์ภาพป่อง นอร์มอลภาพไม่คม เทเลภาพซอฟต์
- ซูมไกล แต่รูรับแสงแคบ ทำให้สปีดตก...ภาพเบลอ ถึงจะมีกันสั่นก็ช่วยไม่ค่อยไหวครับ
- แพง...สามารถซื้อเลนส์แยกช่วงคุณภาพดีๆ ได้เกือบ 2 ตัวแน่ะ
สรุปว่าได้แต่สะดวกครับ ซึ่งไหนๆเราก็ซื้อกล้องที่มันเปลี่ยนเลนส์ได้แล้วก็น่าจะซื้อเลนส์มาเปลี่ยนบ้างนะครับ)

- EF 24-105 f/4L IS USM...3 หมื่นนิดๆ
- EF 24-70 f/2.8L USM...4 หมื่น
- EF-S 17-55 f/2.8 IS USM...3 หมื่นนิดๆ

การเลือกใช้เลนส์ ตอนที่1

ถ่ายวิว ใช้เลนส์ไวด์ครับ

- EF-S 18-55 f/3.5-5.6...เลนส์คิท ถ่ายได้ทุกอย่าง
- EF-S 18-55 f/3.5-5.6 IS...เป็นเลนส์คิทตัวใหม่จาก Canon ครับ ติดกันสั่นมาให้ และมีคุณภาพ Optic ดีกว่าเดิมพอสมควร ราคาประมาณ 3500 ครับ
- EF-S 10-22 f/3.5-4.5 USM...2 หมื่นนิดๆ กว้างที่สุดสำหรับกล้องตัวคูณครับ
- Sigma 10-20 f/4-5.6 DC HSM...เลนส์ค่ายอิสระ หมื่นต้นๆ กว้างสะใจเช่นกัน เขาบอกกันมาว่าคมและสีพอๆกับ EF-S 10-22...แต่สังเกตให้ดีๆ เลนส์ Sigma ตัวนี้จะมี f แคบกว่า Canon นะครับ
- EF 17-40 f/4L USM...2 หมื่นต้นๆ มีรูรับรับแสงคงที่ คมมาก สีสวย และโฟกัสเร็วครับ (L ที่ต่อท้ายชื่อเลนส์ หมายถึง เลนส์นี้เป็นเลนส์ระดับโปรของ Canon ครับ คุณภาพทาง optic และโครงสร้างจะดีกว่าเลนส์ทั่วไป)
- EF 16-35 f/2.8L II USM...เลนส์ไวด์ซูมที่ดีที่สุดของ Canon ครับ 4 หมื่นนิดๆ


รูปนี้ถ่ายด้วย Cannon EF-S 10-22 f/3.5-4.5 USM ครับ

เลนส์กล้องฟีลม์ กับ ดิจิตอล ต่างกันอย่างไร

สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ ข้อแตกต่างระหว่างเลนส์ที่ใช้กับกล้อง ฟีลม์ กับ ดิจิตอล ต่างกันก็คือ
ดิจิตอล ราคาถูก และ ขนาดเล็กลงครับ

อย่างไรก็ตาม
เราก็ยังเอาเลนส์สำหรับกล้องฟิล์มมาใช้กับกล้องดิจิตอลตัวคูณได้อยู่นะครับ
แต่จะเอาเลนส์สำหรับกล้องดิจิตอลมาใส่กับกล้องฟิล์ม หรือ กล้องฟูลเฟรมไม่ได้ครับ (กล้องฟูลเฟรม คือ กล้องที่มีเซนเซอร์ใหญ่เท่าฟิล์ม คือ 5D กับ 1Ds)

(สาเหตุที่เอาเลนส์สำหรับกล้องดิจิตอลมาใส่กล้องฟิล์มไม่ได้ก็เพราะ มันจะมีภาพแค่ในบริเวณกรอบสีแดงน่ะครับ...บริเวณขอบภาพจะดำหมดเลย...เรียก ว่าติดขอบดำครับ...นอกจากนั้น ถ้าเป็นเลนส์สำหรับกล้องดิจิตอลของ Canon (รหัส EF-S) ตูดเลนส์จะยื่นเข้าไปในบอดี้มากกว่าปกติ...ซึ่งตูดเลนส์ที่ยื่นออกไปนี้จะไป ขวางกระจกสะท้อนภาพไว้ ทำให้กระจกสะท้อนภาพยกขึ้นไม่ได้และถ่ายภาพไม่ได้ครับ)

ซึ่งเลนส์ทุกตัว ถ้าเอามาเสียบกับกล้องดิจิตอลตัวคูณ (ของ Canon)
ความยาวโฟกัสจะถูกคูณด้วย 1.6 ทุกตัวครับ
(บางคนสับสนว่าเลนส์สำหรับดิจิตอลไม่ต้องคูณ...จริงๆต้องคูณทุกตัวนะครับ)

ที่ต้องคูณเพราะ ขนาดเซนเซอร์มันเล็กลง ภาพที่ได้จึงเสมือนว่าถูกซูมเข้าไปอีกนิดนึงครับ เช่น จาก 50 กลายเป็น 80 เป็นต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น มันไม่ใช่การซูมจริงๆนะครับ มันเป็นแค่การ crop ภาพตรงกลางมาเท่านั้นเอง

ถ้าเป็นเลนส์ Canon จะมีรหัสนำหน้า 2 แบบคือ
EF...ใช้ได้กับฟิล์มและดิจิตอลรวมทั้งฟูลเฟรม
EF-S...ใช้ได้กับกล้องตัวคูณเท่านั้น

ถ้าเป็นเลนส์ Sigma จะเขียนรหัสต่อท้ายเลนส์ไว้คือ
DG...ใช้ได้กับฟิล์มและดิจิตอลรวมทั้งฟูลเฟรม
DC...ทำมาเพื่อกล้องตัวคูณเท่านั้น เอาไปใช้กับฟิล์มหรือฟูลเฟรมได้ แต่จะติดขอบดำ

ถ้าเป็นเลนส์ Tamron จะเขียนรหัสต่อท้ายเลนส์ไว้เหมือนกันครับ คือ
DI...ใช้ได้กับฟิล์มและดิจิตอลรวมทั้งฟูลเฟรม
DI II...ทำมาเพื่อกล้องตัวคูณเท่านั้น เอาไปใช้กับฟิล์มหรือฟูลเฟรมได้ แต่จะติดขอบดำ

รูรับแสง ตอนที่3

วันนี้เรามาเล่นคำนวนซะหน่อยนะ

จากตอนที่แล้ว
เลนส์จะมีค่า f อยู่ 2 แบบครับ คือ

- f ที่กว้างสุดของเลนส์คงที่ตลอดช่วงซูม
- f ที่กว้างสุดของเลนส์เปลี่ยนไปตามช่วงซูม

ซึ่งเลนส์ดีๆ มักจะมี f กว้างสุดคงที่ตลอดช่วงซูมครับ เพราะว่าทำให้ค่าแสงไม่เปลี่ยนเมื่อทำการซูมเพื่อจัดองค์ประกอบภาพ เช่น 70-200 f/2.8

ส่วนเลนส์ที่มี f กว้างสุดเปลี่ยนไปตามช่วงซูม จะเป็นเลนส์ที่ยิ่งซูมรูยิ่งแคบลงครับ เช่น 18-200 f/3.5-6.3 หมายถึง เริ่มที่ 18mm จะให้ f กว้างสุดที่ f/3.5 และเมื่อซูมไปเรื่อยๆ ค่า f ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ(รูแคบลง) จนถึงที่ 200mm จะให้ f กว้างสุดแค่ที่ f/6.3 ครับ...ข้อเสียของเลนส์แบบนี้คือ ภาพที่เห็นในช่องมองภาพจะมืดลงเรื่อยๆเมื่อซูม และ shutter speed จะลดลง และมีโอกาสที่ภาพจะเบลอจะมากขึ้นครับ

...................................................................................

ค่า f-number นี้ เราสามารถปรับลดลงได้นะครับ บางคนอาจคิดว่า ถ้าชั้นซื้อเลนส์ f/2.8 คงที่ตลอดช่วงซูมมา ชั้นก็ถ่ายที่ f/8 หรือ f/22 ไม่ได้น่ะซิ...อันนี้ปรับได้นะครับ...เพราะค่า f ที่เค้าบอกคืือค่า f กว้างสุดนะครับ (ย้ำจนไม่รู้จะย้ำยังไง) มันปรับแคบลงได้

...................................................................................

f-number ของเลนส์จะเป็นเลขแปลกๆ...ซึ่งที่มาของมันมาจากการคำนวณพื้นที่วงกลมที่ เพิ่มขึ้นทีละ 1 เท่าครับ...ผลจากการคำนวณส่งผลให้ความกว้างของเลนส์ (เส้นผ่านศูนย์กลางของหน้าเลนส์) ที่เพิ่มขึ้นทีละ รูท2 เท่า (ประมาณ 1.4) จะทำให้พื้นที่รับแสงของเลนส์มากขึ้น 1 เท่าครับ

ลำดับการเรียงจะเป็นดังนี้ครับ

ทีละ 1 stop
1--1.4--2--2.8--4--5.6--8--11--16--22--32
(สังเกตว่าคูณเลขตัวแรกด้วย 1.4 จะได้เลขถัดไป)

ทีละ 1/3 stop
1--1.1--1.2--1.4--1.6--1.8--2--2.2--2.5--2.8--3.2--3.5--4--4.5--5.0--5.6--6.3--7.1--8--9--10--11--13--14--16--18--20--22

รูรับแสง ตอนที่2

ถ้าสังเกตุชื่อของเลนส์เช่น
Cannon 17-50mm F2.8
Cannon 18-55mm F3.5-5.6
ต่อจากช่วง จะมี f-number บอกด้วย...มันคือ รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ตัวนั้น ครับ

f มาก รูแคบ
f น้อย รูกว้าง

เลนส์ที่มี f น้อยๆ (รูกว้าง) เช่น f/1.2, f/1.4, f/1.8, f/2, f/2.8 ราคามักจะแพงครับ เพราะชิ้นเลนส์จะใหญ่ขึ้น และเปิดให้แสงเข้าได้มาก เวลามองจากช่องมองภาพ จะเห็นภาพชัดและสว่าง และจะทำให้กล้องโฟกัสได้ดีขึ้นครับ และยิ่ง f กว้างมากขึ้นแบบผิดปกติเมื่อไร ราคาจะเริ่มทวีคูณเพราะการออกแบบเลนส์จะยากขึ้นมากและคุณภาพจะเริ่มเข้าสู่ ระดับความบ้าคลั่ง เช่น 85 f/1.8 กับ 85 f/1.2L ที่รูรับแสงต่างกันแค่ 1 stop แต่ราคาต่างกันเกือบ 7 เท่าครับ...แต่อย่างไรก็ตาม การที่เลนส์ f กว้างๆ ราคาแพงมหาศาลขนาดนั้น มักไม่ได้มาจาก f กว้างอย่างเดียว แต่มักมาจากหลายๆอย่าง เช่น คมขึ้น สีสันคอนทราสต์ดีขึ้น ระบบการโฟกัสดีขึ้น การประกอบดีขึ้น ควบคุมแสงแฟลร์/แสงฟุ้งได้ดีขึ้น เป็นต้นครับ...เมื่อรวมๆกันหลายๆอย่าง ราคาจึงแพงขึ้นมากๆครับ

เลนส์แบบต่างๆ

เลนส์แต่ละชนิดส่วนใหญ่จะแบ่งจากช่วง mm ของตัวมันครับ
ซึ่งก็คือ ความยาวโฟกัส ครับ (หน่วยเป็น มิลลิเมตร-mm)
ความยาวโฟกัสของเลนส์ที่แตกต่างกันจะให้ลักษณะภาพที่ต่างกันครับ โดยแบ่งคร่าวๆได้ดังนี้ครับ

ความยาวโฟกัสน้อยๆ (ประมาณไม่เกิน 28) จะเรียกว่าเลนส์ไวด์ คือกว้าง ถ่ายเห็นทั้งภูเขา
ความยาวโฟกัสกลางๆ (ประมาณ 28-70) จะเรียกว่าเลนส์นอร์มอล คือ เท่าๆสายตามนุษย์ เพราะสายตาคนเรามีความยาวโฟกัสประมาณ 50mm ครับ
ความยาวโฟกัสมากๆ (ประมาณ 70 ขึ้นไป) จะเรียกว่าเลนส์เทเล พูดง่ายๆก็คือ ซูมไกลๆนั่นเองครับ

ซึ่งลักษณะของมันก็แบ่งเป็น 2 แบบคือ
เลนส์ที่ปรับช่วงได้เราเรียกเลนส์แบบนี้ว่าเลนส์ซูมครับ
16-35mm F2.8
18-55mm F3.5-5.6
17-85mm F3.5-5.6
70-200mm F4
เหล่านี้คือเลนส์ซูมทั้งสิ้นครับ
เลนส์ซูมมักเป็นที่นิยมของตากล้องทั่วไป เพราะสามารถเปลี่ยนความยาวโฟกัสได้ด้วยการซูม ทำให้สะดวกต่อการใช้งาน เช่น 17-85ที่สามารถ่ายกว้างก็ได้ ถ่ายเจาะก็ได้...ข้อเสียมีบ้างคือบางตัวมีรูรับแสงไม่กว้างนัก (อย่าเพิ่ง งง อ่านต่อไปเดี๋ยวเจอ) และราคามักจะแพงกว่าเลนส์ที่ซูมไม่ได้ที่ความยาวโฟกัสเดียวกัน

อีกอย่างคือ Prime หรือ Fixed ก็คือเลนส์ที่มีระยะเดียวเช่น
28mm F2
50mm F1.4
85mm F1.8
เลนส์ Fixed ใช้งานยากกว่าเลนส์ซูม เพราะซูมไม่ได้ หากต้องการจัดองค์ประกอบภาพ ต้องเดินเข้าเดินออกเอาเอง หรือถ้าอยากเปลี่ยนความยาวโฟกัสก็ต้องเปลี่ยนเลนส์ ขณะที่เลนส์ซูมแค่หมุนเอาก็เสร็จแล้ว...ถามว่าใช้งานยุ่งยากแบบนี้แล้วมันมี ดีอะไร...มีดีคือเลนส์ Fixed มักจะให้ภาพที่คุณภาพดีกว่าเลนส์ซูมมาก และรูรับแสงก็ยังกว้างมากด้วย (อาจกว้างกว่าเลนส์ซูมที่ความยาวโฟกัสเดียวกันถึง 2 stop) ในขณะที่ราคาค่อนข้างถูกกว่าเลนส์ซูม...ถ้านับเฉพาะความคม เลนส์ Fixed ถูกๆบางตัวอาจคมกว่าเลนส์ซูมที่ราคาแพงกว่า 5-10 เท่าได้ เช่น 50 f/1.8 ที่คมกว่า 17-85 f/3.5-5.6 IS...เลนส์ Fixed จึงค่อนข้างเป็นที่นิยมในกลุ่มช่างภาพมือโปรที่ต้องการคุณภาพสูงสุดซึ่งไม่ เกี่ยงการเปลี่ยนเลนส์ หรืออาจใช้ในการถ่ายใน Studio ที่ระยะการถ่ายค่อนข้างตายตัว


วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รูรับแสงของเลนส์

ขนาดของช่องรูรับแสงของเลนส์ จะบอกได้ว่าเลนส์ตัวนั้นสามารถเปิดรูรับแสงได้กว้างเท่าไหร่
โดยจะมีผลต่อการถ่ายภาพ 2 ประการคือ
1. ทำให้แสงสว่างผ่านเลนส์เข้าไปในกล้องได้มากขึ้น ทำให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้สูงขึ้น
2. การตั้งช่องรับแสงเล็กจะได้ภาพที่มีช่วงความชัดมาก ในทางตรงกันข้ามถ้าตั้งช่องรับแสงขนาดใหญ่ภาพที่ได้ช่วงความชัดจะน้อยลงไป
เพราะฉะนั้นการนำขนาดรูรับแสง กว้าง หรือแคบมาใช้ในการถ่ายภาพเช่น

ภาพวิวเราคงอยากถ่ายให้ชัดๆ คมๆ ทั้งภาพเราก็ใช้รูรับแสงที่แคบๆ

ภาพบุคลหรือต้องการเน้นตัวแบบ Subject เราก็ใช้รูรับแสงกว้างๆ
ทั้งนี้ก็จะต้องสำพันธ์กับความเร็วชัตเตอร์ด้วยครับ

ระยะของเลนส์



จากรูปเราจะเห็นหลักการทำงานของแสงผ่านเลนส์ไปยังวัสดุรับภาพ(CCD ในกล้องดิจิตอล) โดยความยาวโฟกัส(ระยะ f ในรูป) ก็คือระยะห่างระหว่างตัวเลนส์กับวัสดุรับภาพของกล้องนั่นเอง โดยถ้าเราพิจารณาจากภาพก็จะเห็นได้ว่า ยิ่งค่า f มากขึ้นเท่าไหร่(ยิ่งเลนส์ห่างจาก CCD เท่าไหร่) มุมของภาพก็จะนิ่งแคบลงเท่านั้น
เลนส์ถ่ายภาพใดก็ตามที่มีความยาวโฟกัสของเลนส์ ยิ่งยาวยิ่งทำให้มุมของการถ่ายภาพแคบ และ ช่วยย่นระยะของทางที่มองเห็นให้ใกล้เข้ามา เลนส์ดังกล่าว ซึ่งได้แก่เลนส์ถ่ายไกล(Telephoto Lens) เป็นต้น นอกจากนี้เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสแตกต่างกัน นอกจากสร้างผลทางภาพให้มีขนาดต่างกันแล้ว ยังสร้างผลของช่วงความชัดให้มีความแตกต่างกันอีกด้วย โดยความยาวโฟกัสยิ่งยาวมาก ช่วงความชัดยิ่งสั้นลง ตรงกันข้าม ถ้าความยาวโฟกัสยิ่งสั้นมาเท่าใด ช่วงความชัดของภาพจะมีมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นสรุปได้ว่าความยาวของโฟกัสของเลนส์มีผลต่อการถ่ายภาพ 2 อย่างคือ
1. ทำให้มุมของภาพ กว้างหรือแคบได้
2. ทำให้ช่วงความชัดมีมากหรือน้อยลงได้

เรื่องของเลนส์

ว่ากันเรื่องกล้องแล้วมาดูเลนส์กันบ้างครับ

เลนส์คือวัตถุที่ทำจากแก้วชนิดดีมีลักษณะกลม ผิวเรียบ แบ่งได้ 2 ชนิด คือ เลนส์นูนและเลนส์เว้า ใช้ทำหน้าที่รับภาพและรับแสงจากภายนอกตัวกล้องไปยังวัสดุรับภาพ(CCD ในกล้องดิจิตอล) โดยเลนส์ของกล้องถ่ายภาพจะมีหลายชนิดหลายช่วงการใช้งาน ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับการที่จะนำไปใช้ในงานแต่ละประเภท

ก่อนที่จะกล่าวถึงคุณสมบัติของเลนส์ ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเลนส์ก่อนว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง โดยปกติทั่วไปเราคงเคยได้ยินชื่อของเลนส์ เช่น เลนส์ 28 มม. เลนส์ 70-300 มม. เป็นต้น โดยตัวเลขเหล่านี้คือขนาดของความยาวโฟกัส หรือความยาวระยะชัด (Focal Lenght) ช่วงความยาวนี้มักจะเขียนไว้ที่ขอบตัวเลนส์ เพื่อที่จะแสดงให้ผู้ที่จะใช้เลนส์ได้มีความสะดวกในการเลือกใช้งาน ความยาวโฟกัสของเลนส์นี้จะมีตัวเลขบอกความยาวไว้ มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรหรือนิ้ว ครับ

วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เลือกยี่ห้อไหนดี

พอเราคิดจะซื้อกล้องดิจิตอลแบบ DSLR คงจะกำลังหัวหมุนหัวปั่น ว่าจะซื้อยี่ห้อ(นิยม)ยี่ห้อไหนดีระหว่าง Canon กัน Nikon
ก็เลยขอรวบรวมข้อมูล มาให้ชมกันครับ

ประโยคฮิตสุดในวงการ ซึ่งคนหรือผู้ที่ใช้กล้อง DSLR ชอบพูด ก็คือ ...
Nikon สีสด(แปร๋น?)
Canon สีธรรมชาติื(จืด?)
นั่นเองครับ
ซึ่งก็จะแยกย่อยลงไปอีกว่า สีธรรมชาติของ Canon นั้น เหมาะกับการถ่าย Portrait หรือภาพบุคคล เพราะสีธรรมชาติๆนั้นจะทำให้ผิวดูสวย ดูดีมีสกุล
ส่วนสีสดๆ ของ Nikon นั้นจะเหมาะกับภาพวิว เพราะจะทำให้สีท้องฟ้าเอย ใบไม้ใบหญ้า หรือดวงอาทิตย์นั้น สดสวยมากๆ

ซึ่งก็จะเป็นคำถามอีกว่า "คุณชอบถ่ายภาพแนวไหนมากกว่ากัน" นั่นเองครับ

แต่อยากจะขอบอกให้ทราบ ไม่ว่าจะ Canon หรือ Nikon นั้น จะธรรมชาติหรือสด ก็ปรับจากตัวกล้องได้ทั้งนั้นครับ
(แต่ standard ของ Nikon คือสด ส่วน Canon คือธรรมชาติ)
เพียงแต่ว่า ในความธรรมชาติและความสดนั้น มันจะมีสไตล์สีของตัวมันเองอยู่บ้างครับ ซึ่งก็คงต้องหาเพื่อนที่มีกล้องแล้วดูภาพของเค้าน่ะครับ (ภาพในเนทบางภาพอย่าไปดู เพราะเอาแต่สวยๆมาโชว์หรือไม่ก็ผ่าน photoshop แล้วทั้งนั้น)

ซึ่งก็มีประเด็นสีประเด็นเดียวนี่ล่ะครับ ที่เค้าพูดๆกัน นอกนั้นกินกันไม่ลง หรือความเห็นแตกต่างกันบ้างน่ะครับ
แต่ถ้าอยากแนวมากขึ้น ก็ไปเลือก Fuji Olympus Pentax หรือ Sony ได้ครับ แต่ถ้ามือใหม่เพิ่งเริ่มแนะนำ
Canon หรือ Nikon จะดีกว่าเพราะเมื่อผู้ใช้เยอะ อาจารย์ก็แยะตาม (สอนพวก Function นะครับ) และขายต่อง่าย หาของมือ 2 ง่ายครับ



โดยส่วนตัวผมใช้ Canon ครับ ตอนนั้นที่เลือกเพราะเหตุผลคนใช้ Canon น่าตาดีตัวอย่าง น้องพอลล่าก็ใช้ Canon
อนันดาในเรื่องสบายดีหลวงพระบางก็ใช้ Canon กระผมซึ่งอยากเข้ากลุ่มหน้าตาดีเลยใช้ Canon ด้วยเลย

ปล. ภาพที่เอามาลงเกือบทุกภาพมาจากกล้องผมเอง Canon ครับสีสดม๊ะ

การเลือกซื้อกล้อง DSLR

จะเลือกซื้อกล้อง D-SLR อย่างไร มีคำแนะนำว่า อย่างแรก ให้มองจากงบประมาณเป็นหลัก เมื่อเราทราบงบประมาณแล้ว จะเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น ส่วนจะเลือกกล้องค่ายไหน ยี่ห้ออะไรนั้นไม่สำคัญ เพราะปัจจุบันต่างก็มีคุณสมบัติที่ดีใกล้เคียงกันทุกค่าย เราควรเลือกจากระบบการใช้งาน สีสันของภาพที่ได้ การจับถือแล้วชอบหรือเปล่า และสุดท้ายก็อาจจะมาพิจารณาที่บริการหลังการขาย

ช่างภาพมือใหม่บางคนอาจยังเข้าใจผิดเรื่องจำนวนพิกเซล ว่าถ้ามีจำนวนพิกเซลสูงๆแล้วภาพจะสวยกว่า แต่ความจริงแล้วไม่เกี่ยว กล้อง D-SLR 10 ล้านพิกเซล ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว สามารถนำไปอัดภาพขนาด 20 นิ้วได้สบายๆครับ

DSLR คืออะไร

จากคราวที่แล้วทำไมผมแนะนำ DSLR ถ้าท่านอยากได้ภาพที่สวย

ถ้าจะเปรียบการถ่ายภาพคือการทำอาหาร คือ
อาหารอร่อยหรือภาพที่สวย มาจาก 1.กุ๊กหรือตากล้อง 2.วัตถุดิบหรือSubject ที่อยู่ในภาพ 3.เครื่องครัวที่ดี ก็คือกล้อง
ทั้ง 3 ข้อสำคัญหมดครับ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่เเกิดภาพที่สวย

ก็เลยจะมาบอกว่า DSLR เป็นยังไงครับ
D-SLR เป็นกล้องดิจิตอลสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว ดัดแปลงจากกล้องฟิล์ม 35 mm. มาเป็นระบบดิจิตอล และใช้เซ็นเซอร์ในการรับภาพ โดยมีระบบการทำงาน รวมถึงคุณสมบัติต่างๆเหนือกว่ากล้องดิจิตอลคอมแพ็คทั่วไป ซึ่งปัจจุบันราคาของกล้องประเภทนี้ถูกลงกว่ายุคก่อนมาก และถ่ายง่ายกว่ากล้องฟีลม์ เป็นเหตุให้เราๆท่านๆ เข้าสู่วงการการถ่ายภาพมากขึ้นครับ

การเลือกซื้อกล้อง

หลังจากห่างหายไปหลายวัน มาเข้าเรื่องการถ่ายภาพกันต่อนะครับ


วันนี้ผมจะมาให้คำแนะนำในการเลือกซื้อกล้องอะไรที่เหมาะสมกับตัวท่าน
ให้เราดูก่อนเลยอันดับแรก

1. กระตัง หรือเงิน มีงบเท่าไหร่ซื้อเท่านั้นนะครับ อย่าเพิ่งไปดูเรื่อง Spec กล้องไม่งั๊นก็เกิดกิเลศ เพิ่มไปเรื่อย
คงไปจบที่ตัว Top ของแต่ละค่าย แค่ Body เกือบซื้อรถได้เลย
ถ้าเพิ่งเริ่มให้คิดว่ากล้อง ระดับไหนก็สร้างภาพสวยๆได้แหละครับ เอาไว้เริ่มเล่นซักระยะค่อยอัพเกรดก็ไม่สาย

2. จะไปถ่ายอะไร ระดับไหน ถ้าคิดว่าเอาแค่ได้ภาพ ถ่ายสะดวกไม่เน้นคุณภาพก็ไม่ต้องมอง DSLR ครับ
แต่ถ้าเริ่มคิดว่า ทำไมภาพที่ท่านเห็นในที่ต่างๆมันสวย มุมมองแปลก ทำไมเค้าถ่ายคนหรือ Subject ชัดตื้นได้
ซื้อ DSLR เลยครับ

วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บทความนอกเรื่อง รถไฟฟ้าไฟรั่ว? ตอนที่2

ตามมาตรฐานความปลอดภัยไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าที่ผ่านเข้าสู่ร่างกายคนต้องไม่เกิน 30 mAmp เวลาไม่เกิน 30 วินาที ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานในการทำ RCCB กับ ELCB ที่ใช้ในบ้านของเราๆ แต่....

ระบบรถไฟฟ้า BTS นั้นใช้ไฟฟ้ากระแสตรงแรงดันสูงถึง 750 Volt หรือกระแสสลับที่ 25000 Volt คงดูไม่จืดเลยนะครับ ถ้ามีพวก อยู่ดีๆจะเอายางรถยนต์ขึ้นไปวางบนทางวิ่งรถไฟฟ้าแล้วทางผู้ดูแลระบบรถไฟฟ้ามองไม่เห็นแล้วไม่ได้ตัดไฟให้ก่อนที่จะมีเป็ดย่างบนทางรถไฟ เอ๊กๆ (รถไฟฟ้ารับไฟจากรางที่ 3 และลง Ground ที่ตัวรางที่ล้อสำผัส)

แต่หากเราอยู่บนรถจะปลอดภัยจากกระแสไฟฟ้าที่ป้อนมาอย่างไร?
ที่บนรถไฟฟ้ากระแสที่ป้อนสู่ระบบรถไฟฟ้าเป็นกระแสตรงที่กำหนดแรงดันสำผัส (Touch Voltage) ไว้ที่ 90 Volt และน้อยกว่า 300 วินาที หรือ 160 Volt ในเวลาน้อยกว่า 0.5 วินาทีส่วนไฟฟ้าสลับไว้ที่ 65 Volt ไม่เกิน 300 วินาที sinv 80 Volt ไม่เกิน 1 วินาที ใครที่ถูกดูดด้วยไฟขนาดนี้ก็จะถือว่ายังปลอดภัยอยู่ถ้าเราอยู่บนรถและไปจับถูกอุปกรณ์ที่มีไฟฟ้ารั่ว ก็จะรู้สึกว่าถูกไฟดูดและชักมือกลับได้โดยที่ไม่ได้รับอันตรายครับ

บทความนอกเรื่อง รถไฟฟ้าไฟรั่ว? ตอนที่1

นอกเรื่องซักหน่อยนะครับ แก้เลี่ยนเรื่องการถ่ายภาพ :)

ขอเอาเรื่องความน่าสนใจที่ผมทำงานมาเล่าสู่กันฟัง
เคยคิดบ้างมั๊ยเวลาขึ้นรถไฟฟ้า ว่าถ้าไฟฟ้าที่ใช้ในระบบรั่ว เราที่ขึ้นรถไฟฟ้าจะปลอดภัยมั๊ย?

คงเคยทราบกันว่าในชีวิตประจำวันตามบ้านเราจะมีเครื่องมือกันไฟฟ้ารั่วพวก Safe T-Cut ป้องกันไฟดูด
เราเรียกเครื่องมือพวกนี้ว่า RCCB (Current Circuit Breakers)และ ELCB (Earth Circuit Breakers) ครับ
อุปกรณ์พวกนี้ใช้กับไฟฟ้ากระแสสลับ 230/400 Volt และถ้าเราไปโดนไฟฟ้าระดับนี้ดูดจะอันตรายอย่างไร

ติดตามตอนต่อไปครับ

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เทคนิคการถ่ายภาพบุคคลตอนกลางคืน Night Portrait

ตอนที่ 3

การใช้ Slow Sync Flash เพื่อแก้ปัญหาแสงแฟรชแรง

จากตอนที่แล้วทางทฤษฎีแล้วโดยทั่วไปจะแนะนำให้ใช้ Slow Sync Flash เป็นการยิงแฟลชให้สัมพันธ์กับการใช้ speed shutter ที่ต่ำ จะทำให้สามารถเก็บแสงของฉากหลังได้ดีขึ้น นั่นคือเมื่อเรากดชัตเตอร์แล้วแฟลชยิงไปกระทบที่ตัวแบบ หลังจากที่แสงจากแฟลชหมด ม่านชัตเตอร์ยังไม่ปิด ทำให้สามารถเก็บแสงจากฉากหลังได้ เมื่อแสงพอดีแล้ว ม่านชัตเตอร์ก็จะปิดลง ทำให้เราได้ภาพที่ภาพตัวแบบชัดเจนและได้แสงสวยๆ ของฉากหลังด้วย

แต่ในการใช้ Slow Sync Flash และ speed shutter ที่ต่ำนั้น ก็มีข้อจำกัดนั่นคือถ้ามือไม่นิ่งพอ, แบบไม่นิ่งหรือแบบขยับ ก็จะทำให้ภาพสั่นไหวกลายเป็นว่าไม่ชัดทั้งแบบและฉากหลังไปเลย วิธีแก้ง่ายๆ ก็คือการใช้ขาตั้งกล้องและพยายามให้แบบนิ่งมากที่สุดนั่นเอง

เทคนิคการถ่ายภาพบุคคลตอนกลางคืน Night Portrait

ตอนที่ 2

ยิงใส่ตรงแบบตรงๆ แบบแสงแฟรชแรงไม่พอดีกับแสงหลัง

สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างมากมายในการถ่าย Night Portrait คือ
1.แสงที่ตัวแบบ นั่นคือการกำหนดปริมาณของแสงแฟลชที่ยิงไปยังตัวแบบให้พอดี
2.แสงของฉากหลัง การเก็บแสงของฉากหลังให้ได้ปริมาณที่พอเหมาะ เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการถ่าย Night Portrait

โดยปกติแล้วถ้าเรายิงแสงแฟลชไปที่แบบ แฟลชก็จะตกกระทบที่ตัวแบบ แบบได้รับแสงเต็มๆ ภาพของตัวแบบก็จะชัดเจน แต่ฉากหลังจะมืด ดูรูปจะเห็นว่า ยิงแฟลชไปที่แบบตรงๆ ความสว่างก็ตกที่ตัวแบบ แต่ฉากหลังจะมืด

เทคนิคการถ่ายภาพบุคคลตอนกลางคืน Night Portrait

ตอนที่ 1

อุปกรณ์ที่จำเป็นในการถ่ายภาพบุคคลตอนกลางคืน

1. กล้อง DSLR ไม่จำกัดยี่ห้อ
2. เลนส์ อะไรก็ได้ แต่ เลือกเลนส์ที่มีความสว่างมากๆ จะดีกว่า เช่น 50 f 1.8 หรือเป็นเลนส์ ที่มีระบบกันสั่น is VR เป็นต้น
3. แฟลช iTTL, eTTL Manual Flash
4. ขาตั้งกล้อง ทำให้ถ่ายได้นิ่งขึ้น แต่ลำบากในการใช้และการเคลื่อนที่ ถ้าไม่เน้นงานปราณีตจริงๆ ก็คงไม่จำเป็น
5. นางแบบ อันนี้สำคัญ ถ้าไม่มีจะถ่ายบุคคลได้ไงอะ


วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เทคนิคการถ่ายภาพกลางคืน

ถ่ายภาพดาวบนฟ้าให้เป็นเส้น

อันนี้ใช้ทฎษฐีเดียวกับอันแรกแต่ต้องเตรียมตัวมากกว่า
ก่อนอื่นต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมก่อน
อุปกรณ์ที่จำเป็นได้แก่
1) สามขาตั้งกล้อง
2) สายลั่นชัตเตอร์แบบล๊อคได้
3) กล้องที่มีชัตเตอร์ B (โหมดหนึ่งในกล้องที่สามารถเปิดหน้ากล้องได้ไม่จำกัดเวลา)
4) แบตเตอรี่พลังงานเต็มเปี่ยม
5) เสื่อ + ผ้าหุ่มอุ่นๆ ไว้นอนรอ

จากนั้นก็เตรียมตัวถ่ายได้เลยค๊าบบ...
1. ต้องหาทำเลก่อน ลองเล็งๆ ดูนะครับ ว่าอยากได้ฉากหน้าเป็นอะไร ส่วนใหญ่ก็จะหนีไม่พ้นพวกยอดไม้ ยอดสน พวกสายไฟฟ้าไม่ต้องพูดถึง ไม่อยากให้มาติดแหง

2. เมื่อได้ทำเลอันดับต่อไปคือ ดูทิศทางดาว
อันสำคัญนะครับ เพราะดาวที่เราเห็นมันจะนิ่งๆ มันจะไม่เหมือนกับที่กำลังจะถ่ายออกมา
ก็ต้องจิตนาการนิดสส์นึง

เทคนิคการถ่ายภาพกลางคืน

เทคนิคลากแสงเป็นเส้น

ง่ายๆครับให้ใช้โหมด Manual ตั้ง Speed shutter 1 วิขึ้นไป กดแล้วลากเลยครับ อันนี้ทำง่ายแต่จะให้สวยเนี่ยแล้วแต่จะสื่อ



วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การถ่ายภาพกลางคืน

การถ่ายภาพกลางคืน (NIGHT LIGHT)

การถ่ายภาพไฟกลางคืนที่สวยงาม จะได้ภาพที่แปลกตา การถ่ายภาพเวลากลางคืน ได้แก่ การถ่ายภาพที่อาศัยแสงสว่างจากไฟฟ้าตามท้องถนน ป้ายนีออนโฆษณา น้ำพุ การยิงพลุ ห้องโชว์สินค้า ไฟประดับในวันเฉลิมฉลองต่าง ๆ แสงไฟจากรถยนต์ แสงเทียน สายฟ้าแลบ ดวงจันทร์ และดวงดาวบนท้องฟ้า ความสวยงามต่าง ๆ ที่เราสามารถมองเห็นได้ในเวลาค่ำคืนดังกล่าว เราสามารถบันทึกภาพที่งดงามเหล่านั้นด้วยกล้องถ่ายภาพได้เช่นเดียวกับการถ่ายภาพในเวลากลางวัน

การถ่ายภาพที่น่าสนใจอีกแบบหนึ่ง คือการถ่ายภาพตอนหลังดวงอาทิตย์ตกจนถึงตอนกลางคืน เช่นถ่าย ภาพไฟบนท้องถนน ไฟจากหน้าต่างของโรงแรมใหญ่ ๆ การถ่ายรูปดวงจันทร์วันเพ็ญ หรือการถ่ายภาพ ดอกไม้ไฟและพลุสีสวยสดใสงานรื่นเริงหรืองานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ตลอดจนการแสดงตอนกลางคืน




เทคนิคการถ่ายภาพวิว

การถ่ายภาพย้อนแสง

จุดประสงค์ของการถ่ายภาพย้อนแสง จริงๆแล้วจะเน้นอารมณ์ของภาพมากกว่ารายละเอียดครับ อย่างเช่นการถ่ายภาพชีวิตชาวเล ตอนพระอาทิตย์ตกดิน หรือภาพทิวเขาหลังอาทิตย์ลับขอบฟ้า ซึ่งแม้ภาพเหล่านี้จะไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก แต่ว่าจะได้อารมณ์บรรยากาศของสถานที่ ณ เวลานั้นๆ ได้อย่างดีทีเดียว

ทั้งการถ่ายภาพตามแสงและย้อนแสง ภาพที่ออกมาจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการจัดองค์ประกอบภาพ และการวัดแสงที่เหมาะสม เพื่อให้ภาพที่ออกมานั้นสามารถถ่ายทอดอารมณ์ของผู้ถ่ายไปยังผู้รับได้อย่างสมบูรณ์และสวยงามครับ

เทคนิคการถ่ายภาพวิว

2. การถ่ายภาพย้อนแสง >> การถ่ายภาพประเภทนี้จะไม่เน้นรายละเอียดของวัตถุที่เราจะเอามาเป็นแบบครับ คนทั่วไปจะหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพย้อนแสงครับเพราะมันไม่เห็นรายละเอียด เห็นแต่อะไรก็ไม่รู้มืดๆ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราจัดองค์ประกอบได้ดีและเข้าใจอารมณ์ที่จะถ่ายทอดออกมาทางภาพภาพที่ได้ก็จะออกมาอย่างสวยงามได้อารมณ์เป็นอย่างมากครับ

ส่วนใหญ่ไฟท์บังคับในการถ่ายย้อนแสงที่ยังไงก็ต้องถ่ายย้อนแสงคือการถ่ายภาพวิว พระอาทิตย์ขึ้นหรือตกครับ

เทคนิคการถ่ายภาพวิว

การถ่ายภาพตามแสง

การถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ส่วนใหญ่นั้นจะใช้วิธีการถ่ายภาพตามแสงครับ เพื่อที่จะได้รายละเอียด สื่อไปถึงคนที่จะมาชมภาพครับ ว่าทิวทัศน์หรือสถานที่ต่างๆที่เราได้ไปเก็บภาพมา มีลักษณะอย่างไร รายละเอียดเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถเห็นได้จากภาพได้ทันทีครับ
ส่วนในเรื่องการวัดแสงนั้นควรจะตั้งโหมดวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพครับ และถ้าต้องการความสดของสีที่เกิดขึ้น ก็ควรจะใส่ฟิลเตอร์ CPL ไว้ด้วยนะครับ ซึ่งจะมีประโยชน์มากเมื่อเราใช้ถ่ายภาพทะเลครับ CPL จะตัดแสงสะท้อนออก ให้เหลือแต่แสงสีที่แท้จริงของท้องฟ้าและทะเล ทำให้ได้ทะเลสีมรกต
และท้องฟ้าสีฟ้าสวยงามครับ

เทคนิคการถ่ายภาพวิว

แสงในการการถ่ายภาพวิว

ในการถ่ายรูปวิวทิวทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นภูเขา, City Landscape, หรือทะเล สิ่งสำคัญที่ควรจะคำนึงถึงก็คือเรื่องของการจัดแสง
เรื่องแสงนี้เราก็ต้องมาดูกันก่อนนะครับว่า สิ่งที่ผู้ถ่ายต้องการตอนนั้นคืออะไร ต้องการอารมณ์ภาพเป็นแบบไหน ซึ่งลักษณะแสงที่ปรากฏก็จะมีหลักๆ 2 แบบด้วยกันคือ

1 การถ่ายภาพตามแสง >> ในการถ่ายภาพตามแสงนั้น ภาพที่ออกมา จะได้รายละเอียดที่ค่อนข้างครบถ้วน อย่างเช่นเราจะถ่าย วิวภูเขา หรือเกาะแก่งต่างๆ
การถ่ายภาพตามแสงนั้นจะช่วยให้เกิดความชัดเจนในรายละเอียดมากขึ้น

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การจัดองค์ประกอบภาพ

สร้างกรอบให้ภาพ


หลักการนี้เป็นหลักการสร้างจุดสนใจให้กับภาพอีกอย่างหนึ่ง โดยให้เราหารอบประตูหน้าต่าง หรืออะไรก็ได้ที่มีลักษณะเป็นกรอบอาจจะสองด้านหรือว่าสี่ด้านก็ได้ แล้วจากนั้นก็นำจุดสนใจในภาพไปใส่ไว้ในกรอบนั้นๆ ผู้ชมภาพจะถูกบีบด้วยกรอบที่ซ้อนอยู่ในภาพให้มองไปยังจุดสนใจที่เราวางเอาไว้ ซึ่งจะเป็นการทำให้ภาพดูน่าสนใจมากขึ้นอีกทางหนึ่งได้

การจัดองค์ประกอบภาพ

แบบทิ้งพื้นที่ให้ว่าง




ในหลายๆครั้งนั้นเราจะพบปัญหาเกี่ยวกับพื้นทีส่วนอื่นๆในภาพว่าเราควรจะเหลือส่วนไหนอย่างไรดี หลักการนี้ก็เป็นหลักการง่ายๆโดยให้เราทำการเหลือพื้นที่ด้านเดียวกับจุดสนใจในภาพเพื่อให้คนดูภาพไม่รู้สึกอึดอัด เช่นถ้าหากหน้าคน รถ หรือว่าอะไรก็ตามหันไปทางไหนให้เราเหลือพื้นที่บริเวณนั้นเอาไว้ เพื่อให้ผู้ชมภาพไม่รู้สึกอึดอัดและยังเหลือที่ว่างให้คิดหรือจินตนาการต่อได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หลักการนี้เป็นหลักการง่ายๆที่ทำให้ผู้ชมภาพไม่รู้สึกอึดอัด แต่ถ้าหากภาพนั้นต้องการสื่อถึงอารมณ์ให้รู้สึกอึดอัดก็ไม่จำเป็นต้องเหลือพื้นที่ก็ได้ แล้วแต่ว่าเราต้องการบอกอะไรคนดู


การจัดองค์ประกอบภาพ

แบบมีเส้นนำสายตา

ในบางครั้งการวางจุดสนใจในภาพอาจไม่ได้วางตามจุดตัด 9 ช่องก็ได้ แต่เราจะมีวิธีอื่นที่สร้างให้จุดนั้นๆกลายเป็นจุดสนใจในภาพได้โดยการ ใช้เส้นนำสายตาซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อมนุษย์เราเห็นเส้นอะไรสักอย่างมักจะมองตามไปเสมอ และการมองตามเส้นนั้นๆไปจะดึงให้สายตาของผู้มองนั้นมองตามไปจนเจอกับจุดสนใจในภาพที่เราวางไว้ เส้นนำสายตานั้นจะเป็นอะไรก็ได้ในภาพที่มีลักษณะเป็นเส้น เช่น ถนน ขอบรั้ว หรืออะไรก็ได้ไม่จำกัดขอให้มีลักษณะเป็นเส้น และให้เส้นเหล่านั้นชี้ไปยังจุดสนใจที่เราได้ทำการวางเอาไว้ จะทำให้จุดสนใจในภาพที่เราวางเอาไว้เด่นขึ้นมาในทันที

การจัดองค์ประกอบภาพ

แบบจุดตัด 9 ช่อง

สำหรับภาพที่มีจุดสนใจในภาพนั้น โดยปกติแล้วเรามักจะวางจุดสนใจกันเอาไว้กลางภาพ ซึ่งในหลายๆครั้งจุดสนใจนั้นจะถูกลดความน่าสนใจลงไปเนื่องจากโดยส่วนอื่นๆบริเวณรอบข้างดึงความสนใจไป เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้โดยการใช้กฎที่เรียกว่า “จุดตัด 9 ช่อง” โดยให้ทำการแบ่งภาพทั้งหมดเป็น 9 ช่อง แล้วเลือกวางจุดสนใจในบริเวณที่เป็นจุดที่เส้นแบ่งนั้นตัดกันซึงจะมีทั้งหมด 4 จุดด้วยกัน การวางจุดสนใจในภาพไว้ในลักษณะนี้นั้นจะทำให้จุดสนใจในภาพนั้นน่าสนใจมากยิ่งขึ้นและเด่นชัดมากยิ่งขึ้นดังภาพด้านล่าง

การจัดองค์ประกอบภาพ

แบบ 3 ส่วน
RULE OF THE THIRDS (กฏสามส่วน)

การถ่ายภาพโดยวางวัตถุอยู่ตรงกึ่งกลางภาพจะทำให้ภาพดูน่าเบื่อ ดังนั้นเราจึงนำแนวคิดของกฏสามส่วนมาใช้จัดวางองค์ประกอบภาพ เพื่อทำให้ภาพถ่ายดูน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งกฏสามส่วน ก็ถูกนำเอามาจาก golden mean ซึ่งเป็นทฤษฎีพื้นฐานดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น

การจัดองค์ประกอบภาพ

แบบ golden mean - Composition ตอน 2

รูป Golden Spiral โดยแบ่งภาพทีละ 1:1.618 ของด้านยาว แล้วลากจุดตัด เป็นเส้นโค้ง

มาเป็น Golden Triangle แบ่งเป็นสามเหลี่ยมคล้ายเท่าๆ กัน 3 อัน
(สี่เหลี่ยมเป็น 3:2 ก็ใช้ Golden Triangle แบบ 3:2 ก็ถือว่าใกล้เคียง)



หากเราวางตัวแบบ หรือเหตุการไว้ที่เส้นดังกล่าวหรือจุดตัด ก็จะทำให้ภาพของเราดูน่าสนใจยิ่งขึ้น

การจัดองค์ประกอบภาพ

แบบ golden mean - Composition ตอน 1

golden mean คือสัดส่วน (ratio) 1:1.6180339.. เป็นตัวเลขมหัศจรรย์ ที่ถูกค้นพบมาตั้งแต่สมัยก่อน
และทุกวันนี้ถูกใช้ในทุกๆ สิ่งรอบตัวเรา โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว เป็นอะไรที่สมองของมนุษย์ตอบสนองดีเป็นพิเศษ
อย่างเช่น มีการทดลองพบว่า รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่คนชอบมากที่สุดเป็นสัดส่วน 1:1.618

ที่นี้ เจ้า 1.618 มาจากไหน?
จากอนุกรม Fibonacci ( S[n] = S[n-1] + S[n-2] )
0,1,1,2,3,5,8,13,21,34,55,89,...
เอา 3/2 = 1.5
5/3 = 1.667
..
55/34 = 1.6176
89/55 = 1.6182
จากนั้น ค่าจะลู่เข้า ค่าๆ หนึ่งเรียกว่า Phi = 1.6180339... (เป็นอีกค่าคงที่ เหมือนค่า Pi และ e ที่เรารู้จัก)

จะเห็นว่า 3:2 ก็อยู่ในอนุกรม Fibonacci เหมือนกัน

พอรู้จักค่า Phi แล้ว.. มาลองแบ่งตารางกันบ้างดีกว่า..
จากรูป ขนาดสี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน จะมีขนาดเท่ากับ 1:1.618 ของสี่เหลี่ยมใหญ่


7 เทคนิคในการถ่ายภาพบุคคล

เทคนิคที่ 7

การถ่ายภาพบุคคลร่วมกับทิวทัศน์

ในหลายๆครั้งที่เราต้องถ่ายภาพบุคคลร่วมกับฉากหลังโดยที่เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทั้งสองอย่างเช่น การไปถ่ายรูปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆหรือการถ่ายรูปกับสถานที่สำคัญ เรามักพบว่าโดยทั่วไปมักจะวางตัวแบบไว้ตรงกลางภาพซึ่งในหลายครั้งตัวแบบของเราจะไปบดบังภาพทิวทัศน์เบื้องหลัง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีวิธีง่ายๆที่จะทำให้ทั้งสองสิ่งอยู่ร่วมกันได้ให้เราทำการวางคนไว้ด้านซ้ายหรือด้านขวาภาพตามกฎของจุดตัด 9 ช่อง จะทำให้สามารถเก็บภาพของทิวทัศน์เบื้องหลังและภาพของตัวแบบเอาไว้ได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ

7 เทคนิคในการถ่ายภาพบุคคล

เทคนิคที่ 6

ถ่ายภาพย้อนแสง

หลายครั้งเราอาจเคยได้ยินว่าการถ่ายภาพย้อนแสงนั้นจะให้ให้ตัวแบบหน้าดำและได้ภาพที่ไม่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วการถ่ายภาพบุคคลย้อนแสงนั้นมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ โดยเราจะได้ประกายของเส้นผมเกิดขึ้นจากการถ่ายภาพย้อนแสง ซึ่งสิ่งที่เราเองทำการแก้ไขคือการทำไม่ให้ตัวแบบเรานั้นหน้าดำซึ่งวิธีแก้นั้นจะมีอยู่ 3 วิธีด้วยกันได้แก่

1. ใช้การวัดแสงแบบเฉพาะจุดวัดแสงที่บริเวณแก้มของตัวแบบ ( วิธีการนี้อาจทำให้ฉากหลังว่างเกินไป)
2. ใช้แฟลชช่วยเติมแสงบริเวณใบหน้า
3. ใช้ Reflex ในการเติมแสงบริเวณใบหน้า ( วิธีนี้จะให้แสงที่นุ่มและมีมิติมากกว่าการใช้แฟลชธรรมดา แต่ต้องมีคนช่วยถือให้)

จากสามวิธีการข้างต้นนั้นจะทำให้เราสามารถถ่ายภาพย้อนแสงโดยมีประกายที่เส้นผมได้ โดยที่ไม่ทำให้ตัวแบบของเราหน้าดำอีกต่อไป วิธีการนี้ไม่ยากและนำไปปรับใช้กับสถานะการณ์ต่างๆได้ไม่ยากครับ

7 เทคนิคในการถ่ายภาพบุคคล

เทคนิคที่ 5

Window light


การควบคุมทิศทางแสงนั้นถือเป็นเทคนิคสำคัญอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพบุคคลให้มีความแตกต่าง ในสถานะการณ์ต่างๆนั้นก็จะมีสภาพแสงที่แตกต่างกันไป ซึ่งเราต้องหาให้เจอว่าจะใช้งานแต่ละสภาพแสงนั้นๆอย่างไร หนึ่งเทคนิคที่สามารถใช้งานได้ง่ายคือการใช้งานแสงที่เข้ามาเพียงด้านเดียว ซึ่งจะเรียกว่า Window light เทคนิคนี้ใช้งานไม่ยากและสร้างความแตกต่างในภาพได้ดี เราสามารถใช้เทคนิคนี้ได้โดยการหาสถานที่ที่มีแสงเข้ามาด้านเดียว เช่นด้านข้างหน้าต่าง ประตู หรือว่าช่องกำแพงก็ได้ ขอให้เป็นสถานที่ๆสามารรถบีบให้แสงเข้ามาจากด้านเดียวได้ แล้วจัดให้แสงเข้ามาด้านข้างของตัวแบบ เท่านี้เราก็จะได้ภาพแสงที่แตกต่างจากปกติอยู่พอสมควรแล้วซึ่งเทคนิคนี้ไม่ยากจนเกินไปนัก อยู่ที่เราจะสามารถหาสภาพแสงในสถานที่นั้นๆได้หรือไม่ จากภาพตัวอย่างข้างล่างเป็นภาพที่ให้ตัวแบบยืนข้างๆช่องแสง เพื่อให้มีแสงเข้ามาทางด้านขวาของภาพเพียงด้านเดียว ทำให้ได้ภาพที่มีลักษณะแปลกตาและน่าค้นหามากขึ้น

วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

7 เทคนิคในการถ่ายภาพบุคคล

เทคนิคที่ 4

ปล่อยให้เขาเป็นในแบบที่เขาเป็น

ในการถ่ายภาพบุคคลบางอย่างเช่นภาพแนววิถีชีวิต แนวสารคดีหรือว่าแนวอื่นๆก็ตาม บางครั้งเราต้องถ่ายภาพเพื่อสื่อความเป็นตัวตนของคนๆนั้นออกมา มากกว่าการที่จะให้คนๆนั้นทำตาม Concept ที่เราวางเอาไว้ ซึ่งภาพแนวนี้เราต้องมองให้เห็นและดึงความเป็นตัวตนของเขาออกมา โดยปล่อยให้เขาเป็นในแบบที่เขาเป็น ซึ่งสำหรับภาพแนววิถีชีวิตหรือแนวสารคดีนั้น การเดินเข้าไปถ่ายตรงๆนั้นค่อนข้างจะเสียมารยาทและทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้บ่อย การที่คนมีกล้องมีสิทธิ์ที่จะถ่ายภาพนั้นคนถูกถ่ายก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ให้ถ่ายได้พอๆกัน เราควรที่จะเข้าไปพบปะพูดคุยกันเสียก่อนแสดงความเป็นมิตรกับผู้ที่เราจะถ่ายภาพเขา ถ้าหากว่าเราผูกมิตรกับเขาได้โอกาสที่จะได้ภาพสวยๆนั้นมีความเป็นไปได้สูงครับ


ตัวอย่างภาพสารคดีสัตว์โลกน่ารัก

7 เทคนิคในการถ่ายภาพบุคคล

เทคนิคที่ 3

สื่อสารกับตัวแบบของคุณให้ชัดเจน


เพราะว่าการถ่ายภาพ Portrait นั้นช่างภาพไม่ได้ทำงานคนเดียวเหมือนกับการถ่ายภาพแนวอื่นเช่นการถ่ายภาพทิวทัศน์ การถ่ายภาพบุคคลนั้นจึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ถ่ายและตัวแบบ ซึ่งต้องมีการสื่อสารพูดคุยกันว่าอย่างได้อารมณ์และท่าทางแบบไหน ศิลปะในการสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญประการแรกเลย คืออย่าทำให้ตัวแบบเรามีความเครียดอย่างเด็ดขาด เพราะว่าจะทำให้ไม่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ที่เป็นธรรมชาติออกมาได้ พยายามบอกเล่าและสื่อสารกันให้เข้าใจให้ได้ ว่าท่านต้องการอารมณ์และท่าทางแบบไหน เมื่อสามารถสื่อสารได้ตรงกันแล้วเชื่อแน่นอนได้ว่า คุณจะได้อารมณ์ของภาพแบบที่คุณต้องการได้ไม่ยากนัก


วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

7 เทคนิคในการถ่ายภาพบุคคล

เทคนิคที่ 2


อย่าตัดบริเวณข้อต่อ


หลักการสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการจัดองค์ประกอบภาพนั้นอย่าตัดกรอบภาพบริเวณข้อต่อ ซึ่งจะได้แก่ คอ ข้อศอก ข้อมือ เอว หัวเข่า ข้อเท้า เนื่องจากจะทำให้อารมณ์ภาพนั้นดูไม่ดี ความรู้สึกของคนดูภาพจะรู้สึกเหมือนว่าตัวแบบของเรานั้นแขนหรือขาขาดได้ การตัดกรอบภาพบริเวณแขนขาหรือลำตัวนั้นทำได้เพียงแต่เราต้องไม่ตัดบริเวณข้อต่อเท่านั้นเอง เนื่องจากข้อต่อต่างๆเป็นจุดเชื่อมต่อของร่างกายอยู่แล้ว การตัดบริเวณข้อต่อนั้นจะเป็นการเน้นย้ำความรู้สึกคนดูภาพว่าอวัยวะส่วนนั้นอาจขาดหายไปได้มากจนเกินไป การระวังไม่ตัดบริเวณข้อต่อจะทำให้ได้ภาพที่ดีกว่า




วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

7 เทคนิคในการถ่ายภาพบุคคล

เทคนิคที่ 1

โฟกัสที่ตานางแบบ



หลักการสำคัญข้อแรกของการถายภาพบุคคลคือการโฟกัสที่ดวงตา เนื่องจากดวงตานั้นเป็นส่วนสำคัญที่สุดในภาพเนื่องจากเป็นสิ่งที่บ่งบอกและแสดงถึงอารมณ์ของภาพ ถ้าหากว่าเราไม่ได้โฟกัสที่ดวงตาและทำให้ตาไม่ชัดนั้นตัวแบบที่เราถ่ายจะดูเหมือนคนสุขภาพไม่ดีดูเหมือนคนป่วยทำให้ภาพขาดความน่าสนใจไปในทันที เหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการถ่ายภาพบุคคลนั้นเรามักจะใช้รูรับแสงที่กว้างซึ่งจะทำให้มีระยะชัดลึกที่น้อย ถึงแม้ว่าเราจะทำการโฟกัสที่ใบหน้าแล้วก็ตามแต่หลายครั้งเอาอาจพบกรณีที่จมูกชัดแต่ดวงตาไม่ชัดหรือบางครั้งเป็นแก้มหรือว่าใบหูชัดแต่ดวงตาไม่ชัดก็มี การโฟกัสที่ดวงตาให้ชัดนั้นบางครั้งบริเวณไหล่หรือว่าใบหูไม่ชัดก็จะยังสามารถเป็นภาพที่ดีได้ ดวงตานั้นเป็นหน้าต่างของหัวใจการโฟกัสดวงตาให้ชัดจึงสำคัญเป็นประการแรก

วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

แสง ในภาพถ่าย ตอนที่3

ทิศทางของแสง
แสงข้าง (Side light) เป็นแสงที่ส่องมาด้านข้างของสิ่งที่จะถ่าย
ทำมุมประมาณ 90ºด้านซ้ายและด้านขวา ทำให้เกิดเงามืดตัดกับ
แสงสว่าง ช่วยให้เห็นผิวพื้นชัดเจน เห็นเป็นรูปลักษณะด้านสูง
และลึก แสงชนิดนี้เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคล

แสงหลัง (Back light) เป็นแสงที่มาจากด้านหลังของสิ่งที่จะถ่าย
ตรงข้ามกับตำแหน่งที่ตั้งกล้องเห็นเป็นเงาดำๆ แสดงเฉพาะรูปทรง
ภายนอกเท่านั้น การถ่ายภาพแนวนี้เรียกกันว่าแนวซิลูเอท

แสงหน้า (Front light) เป็นแสงที่ส่องตรงเข้ามาทางด้าน
หน้าของวัตถุที่ถูกถ่าย แสงแบบนี้จะมีเฉพาะบริเวณ Highlight
ไม่เกิดเงาในภาพ ทำให้วัตถุดูเรียบแบน
แสงเฉียงหน้าและแสงเฉียงหลัง (Semi - Front light and
Semi - Back light) เป็นแสงที่ส่องเฉียงเข้าด้านข้างและ
ด้านหลังของวัตถุ ทั้งด้านซ้ายและขวา การถ่ายภาพที่มีแสง
หลากหลายตกกระทบกับตัวแบบ อาจจะจัดแสงยากกว่าแบบ
อื่น แต่ภาพที่ได้จะสวยและดูแปลกตา





วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

แสง ในภาพถ่าย ตอนที่2

ลักษณะของแสงที่ใช้ในการถ่ายภาพ





แสงแบบแข็ง (hard light) แสงแบบแข็งเป็นแสงสว่างจาก
ดวงไฟส่องไปยังวัตถุที่ถ่ายโดยตรง วัตถุที่มีร่องขรุขระจะมอง
เห็นความแตกต่างระหว่างพื้นเรียบได้ชัดเจน

แสงแบบนุ่ม (Soft light) เป็นส่วนที่สว่างและส่วนที่เป็นเงา
มืดมีความแตกต่างกันน้อย

แสงสว่างทั่ว (High key) แสงสว่างทั่วเป็นการจัดแสงเพื่อ
ทำให้ภาพดูนุ่มนวลชวนฝัน โดยใช้ฉากหลังเป็นสีอ่อนหรือสีขา
ให้แสงสว่างกระจายทั่วส่องไปยังแบบให้เงาที่เกิดอ่อนที่สุด

แสงสว่างส่วนน้อย (Low key) แสงสว่างส่วนน้อยเป็นการ
จัดแสงลักษณะตรงข้ามกับแบบแสงสว่างทั่ว เพื่อทำให้ภาพดู
ลึกลับตื่นเต้นน่าพิศวง ส่วนที่สว่างมีเนื้อที่น้อยที่สุด

วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

แสง ในภาพถ่าย ตอนที่1

หลังจากทราบในเรื่องทฤษฎีของแสงไปแล้ว
มาดูในเรื่องแสงที่เราเห็นในภาพถ่ายกัน
แสงที่ใช้ในการถ่ายภาพ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ


1. แสงธรรมชาติ (Natural light) คือ แสงสว่างที่ได้จากแหล่งกำเนิด
แสงธรรมชาติ ได้แก่ ดวงอาทิตย์และแสงที่ได้จากการสะท้อนทางอ้อม
ในเวลากลางวัน ส่วนแสงจากดวงจันทร์และดวงดาวนั้นมีบ้างแต่มีโอกาส
ได้ใช้ค่อนข้างน้อย


2. แสงเทียม (Artificial light) คือ แสงสว่างที่ได้จากสิ่งประดิษฐ์ของ
มนุษย์โดยกรรมวิธีต่างๆ เช่น แสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าทุกชนิด แสงจาก
ไฟแฟลชทุกชนิด แสงจากตะเกียงหรือเทียนไขและแสงรังสีต่างๆ
ที่ใช้ในงานวิทยาศาสตร์และการแพทย์







วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

แสง การค้นพบและทฤษฎี

การตรวจวัดคลื่นแสงเริ่มขึ้นใน คริสต์ศตวรรษที่ 19
ในปี 1928 ไรท์ ( W.D.Wright ) และ กิลด์ ( J.Guild )
ประสบความสำเร็จในการตรวจวัดคลื่นแสงครั้งสำคัญ
และได้รับการรับรองจาก Commission Internationale
de l 'Eclairage หรือ CIE ในปี 1931
โดยถือว่าเป็นการตรวจวัดมาตรฐานสามเหลี่ยมสี CIE เป็น
ภาพแสดงรูปสามเหลี่ยมเกือกม้านำเสนอไว้ในปี 1931
โดยการวิเคราะห์สีจากแสงสเปคตรัม สัมพันธ์กับความยาว
คลื่นแสงแสดงถึงแสงสีขาวท่ามกลางแสงสเปคตรัมรอบ
รูปเกือกม้า


โค้งรูปเกือกม้าแสดงความยาวคลื่นจาก 400- 700 mu สามเหลี่ยมสี CIE สร้างขึ้นตาม
ระบบความสัมพันธ์พิกัด X และ Y คาร์เตเชียน ในทางคณิตศาสตร์จากมุมตรงข้าม 3 มุม
ของรูปเกือกม้าคือสีน้ำเงินม่วงเข้มประมาณ 400 mu สีเขียวประมาณ 520 mu และ
สีแดงประมาณ 700 mu คือสีจากแสง ที่จะนำมาผสมกันและก่อให้เกิดสีต่าง ๆ ขึ้น
แสงสีแดงมีความยาวคลื่นสูงสุด แต่มีความถี่คลื่นต่ำสุด จะหักเหได้น้อยที่สุด และแสงสีม่วง
จะมีความยาวคลื่นน้อยสุด แต่มีความถี่คลื่นสูงสุด และ หักเหได้มากที่สุด

โครงสร้างของสามเหลี่ยมสี CIE นี้ มิได้ขึ้นอยู่กับทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง แต่เกิดจากการ
ทดลองค้นคว้าทาง วิทยาศาสตร์ ระบบการพิมพ์อุตสาหกรรม การถ่ายภาพ ภาพยนตร์
โทรทัศน์ ได้ใช้โครงสร้างสีนี้เป็นหลัก ในระบบการพิมพ์ได้ใช้สีจากด้าน 3 ด้านของ
รูปเกือกม้าคือ สีเหลือง ฟ้า สีม่วงแดง และสีดำเป็นหลัก ส่วน ในการถ่ายภาพ ภาพยนตร์
โทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ใช้สีจากมุมทั้งสาม คือ แดง เขียว น้ำเงิน เป็นหลัก

ในราวปี ค.ศ. 1666 เซอร์ ไอแซค นิวตันได้แสดงให้เห็นว่า สีคือส่วนหนึ่งในธรรมชาติของ
แสงอาทิตย์ โดยให้ลำแสงส่องผ่านแท่งแก้วปริซึม แสงจะหักเห เพราะแท่งแก้วปริซึม
ความหนาแน่นมากกว่าอากาศ เมื่อลำแสงหักเหผ่านปริซึมจะปรากฏแถบสีสเปคตรัม
(Spectrum) หรือที่เรียกว่า สีรุ้ง (Rainbow) คือ สีม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด
แดง เมื่อแสงตกกระทบโมเลกุลของสสาร พลังงานบางส่วนจะดูดกลืนสีจากแสงบางส่วน
และสะท้อนสีบางสีให้ปรากฏเห็นได้ พื้นผิววัตถุที่เราเห็นเป็นสีแดง เพราะ วัตถุดูดกลืน
แสงสีอื่นไว้ สะท้อนเฉพาะแสงสีแดงออกมา วัตถุสีขาวจะสะท้อนแสงสีทุกสี และวัตถุสีดำ
จะดูดกลืนทุกสีจากทฤษฎีการการหักเหของแสงของ ของนิวตัน และจากสามเหลี่ยมสี
CIE พบว่า แสงสีเป็นพลังงานเพียงชนิดเดียวที่ปรากฎสี จากด้านทั้ง 3 ด้านของ
รูปสามเหลี่ยมสี CIE
นักวิทยาศาสตร์ได้กำหนดแม่สีของแสงไว้ 3 สี คือ
สีแดง ( Red )
สีเขียว (Green)
สีน้ำเงิน ( Blue )
แสงทั้งสามสี เมื่อนำมาฉายส่องรวมกัน จะทำให้ เกิดสีต่าง ๆ ขึ้นมา คือ
แสงสีแดง + แสงสีเขียว = แสงสีเหลือง (Yellow)
แสงสีแดง + แสงสีน้ำเงิน = แสงสีแดงมาเจนตา (Magenta)
แสงสีน้ำเงิน + แสงสีเขียว = แสงสีฟ้าไซแอน (Cyan)
และถ้าแสงสีทั้งสามสีฉายรวมกัน จะได้แสงสีขาว หรือ ไม่มีสี
เราสามารถสังเกตแม่สีของแสงได้จากโทรทัศน์สี หรือจอคอมพิวเตอร์สี
โดยใช้แว่นขยายส่องดูหน้าจอจะเห็นเป็นแถบสีแสงสว่าง 3 สี
คือ แดง เขียว และน้ำเงิน นอกจากนี้เราจะสังเกตเห็นว่า เครื่องหมายของ
สถานีโทรทัศน์สีหลาย ๆ ช่อง จะใช้แม่สีของแสง ด้วยเช่นกัน ทฤษฎีของแสงสีนี้
เป็นระบบสีที่เรียกว่า RGB ( Red - Green - Blue ) เราสามารถนำไปใช้ในการ
ถ่ายทำภาพยนตร์ บันทึกภาพวิดีโอ การสร้าง ภาพ เพื่อแสดงทางคอมพิวเตอร์
การจัดไฟแสงสีในการแสดง การจัดฉากเวที เป็นต้น แสงสีที่เป็นแม่สี คือ
สีแดง น้ำเงิน เขียว จะเรียกว่า สีพื้นฐานบวก ( Additive primary colors )
เกิดจาก การหักเหของแสงสีขาว ส่วนสีใหม่ที่เกิดจากการผสมกันของแม่สีของแสง
ทั้งสามสี จะเรียกว่า สีพื้นฐานลบ (Subtractive primary colors ) คือ
สีฟ้าไซแอน (Cyan)
สีแดงมาเจนต้า (Magenta)
และสีเหลือง (Yellow)
ทั้งสามสีเป็นแม่สีแม่ใช้ในระบบการพิมพ์ออฟเซท หรือที่เรียกว่าสี CMYK
โดยที่มีสีดำ (Black) เพิ่มเข้ามา